วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

Brother of Saint Gabriel


ชีวประวัตินักบุญหลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต 
(St. Louis Marie Grignion De Montfort)

นักบุญหลุยส์ มารีย์ กรีญอง เดอ มงฟอร์ต (1673-1716)
ผู้สถาปนาภราดาคณะเซนต์คาเบรียล




ท่านถือกำเนิดขึ้นที่หมู่บ้านมงฟอร์ต ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรั่งเศส ในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ทรงได้รับการขนานนามว่า “สุริยะราชัน” อันเป็น ยุคที่ประเทศฝรั่งเศสรุ่งเรืองที่สุดในยุโรป เทียบกับประเทศไทยตรงกับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


ท่านกลายเป็นบุตรหัวปี ที่มีพี่น้องๆ หลายคน เพราะพี่ชายคนโตเสียชีวิตลง และท่านมีความศรัทธาต่อพระแม่มารีอาแต่เด็กๆ พ่อของท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน และบ่อยๆ จะเอ็ดตะโรใส่มารดาของท่าน ท่านก็คอยปลอบใจมารดาของท่าน เพิ่มจากการช่วยงานบ้านและดูแลน้องๆ ที่ท่านทำอยู่ ท่านเริ่มเรียนอ่านเขียนที่นี่


เมื่อท่านอายุได้ 12 ปี ท่านเดินทางไปโรงเรียน ในโรงเรียนของพระสงฆ์คณะเยสุอิต ที่เมืองแรนน์ อันเป็นบ้านเกิดของมารดาของท่าน โดยพักอยู่กับพระสงฆ์ซึ่งเป็นน้องชายของมารดาท่านระยะหนึ่ง เมื่อครอบครัวท่านย้ายมาอยู่ที่เมืองแรนน์แล้ว ท่านจึงมาพักอยู่กับครอบครัว ท่านเรียนอยู่ที่โรงเรียนนี้จนอายุได้ 19 ปี ท่านได้พบครูดีๆ หลายท่าน โดยเฉพาะที่เป็นพระสงฆ์คณะเยสุอิต ซึ่งช่วยเพาะบ่มให้ท่านที่มีความรักต่อคนตกทุกข์ได้ยากมากยิ่งๆ ขึ้นรวมทั้งกระแสเรียกให้เป็นพระสงฆ์ในเวลาต่อมาด้วย


เมื่อท่านอายุได้ 19 ปี ท่านตัดสินใจที่จะบวชเป็นพระสงฆ์ จึงทำให้ท่านมีโอกาสไปศึกษาต่อในบ้านเณรที่กรุงปารีส โดยเป็นเณรใหญ่ ที่บ้านเณร แซงต์ ซูลปิส เป็นเวลา 8 ปี และได้บวชเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุได้ 27 ปี


เมื่อเป็นพระสงฆ์แล้วผู้ใหญ่อยากให้ท่านสอนที่บ้านเณร แต่ตัวท่านเองปรารถนาที่จะเป็นธรรมทูต ท่านจึงถูกส่งไปอยู่ที่เมืองนังต์ เพื่อฝึกงานธรรมทูตกับพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญงานธรรมทูตแต่ชราภาพแล้ว ท่านไม่สบายใจกับการฝึกงานนี้นักเพราะไม่ได้ฝึกฝนอะไรเลย ต่อมาท่านมีโอกาสเดินทางไปเมืองปัวติเอร์ เพื่อหางานธรรมทูตใหม่ทำและได้พบชาวบ้านยากจนในบ้านสงเคราะห์คนยากจน ซึ่งขอร้องให้ท่านดูแลพวกเขา


ท่านทำงานอยู่ที่บ้านคนอยากจนนี้ประมาณ 2 ปี แต่ในที่สุดสถานการณ์บีบคั้นให้ท่านต้องออกจากบ้านคนยากจนนี้จนได้ ท่านจึงเดินทางไปปารีสเพื่อขอคำปรึกษาจากอธิการบ้านเณรคนเก่าของท่าน ไม่มีใครที่ปารีสสนใจท่าน ทุกคนเห็นว่าท่านเป็นคนแปลกๆ ใส่เสื้อผ้าแบบคนยากจน ทำตัวไม่เหมือนคนอื่นๆ ในสังคมในสมัยนั้น


ช่วงวิกฤติที่ไม่มีผู้ใดเหลียวแลนี้ ท่านปลีกวิเวกโดยยึดห้องใต้บันไดเก่าๆ ไม่มีเครื่อง ประดับใดๆ เป็นที่พักในกรุงปารีส ท่านรำพึงภาวนาและเขียนหนังสือเล่มแรกของท่านขึ้น คือหนังสือ ชื่อ “ความรักขององค์ปัญญานิรันดร์” ซึ่งท่านอธิบายว่าโลกุตระปัญญา คือการเข้าถึงความรักของพระเป็นเจ้านั้นสูงส่งและเป็นสิ่งน่าแสวงหามากกว่าโลกียปัญญาทั้งหลาย ท่านอยู่ที่ปารีสประมาณ 1 ปี นอกจากปลีกวิเวกเขียนหนังสือแล้ว ท่านยังไปช่วยสอนในบ้านเณรคณะพระจิตและทำงานแพร่ธรรมอื่นๆ ด้วย งานเขียนของท่านมีปรากฏเป็นหนังสืออยู่หลายเล่ม


ต่อมาบ้านคนจนที่ปัวติเอร์เรียกให้ท่านกลับไปช่วยงานอีก ท่านกลับไปและทำงานอยู่ที่นั่นอีกประมาณ 2 ปีก็ต้องแยกตัวออกมาอีกครั้ง ท่านรู้สึกสับสนเพราะดูจะทำอะไรได้ไม่ยึดยาว จึงเดินทางไปกรุงโรม เข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสันตะปาปาเพื่อขออนุญาตไปทำงานเป็นธรรมทูตในแดนไกล


พระสันตะปาปาทรงรับฟังท่าน แต่ทรงแนะนำให้กลับไปแพร่ธรรมในฝรั่งเศสดังเดิม โดยให้อยู่ในโอวาทของพระสังฆราชของเขตนั้นๆ ท่านจึงเดินทางกลับไปฝรั่งเศสและไปที่เมืองดีนัง เพื่อเข้าร่วมงานธรรมทูตยิ่งใหญ่ที่ท่านเคยรู้จัก ท่านทำงานกับคณะธรรมทูตนี้ได้ 2 ปี ก็ต้องแยกตัวออกมาอีก


ท่านเดินทางมาที่เมืองนังต์และเริ่มตั้งกลุ่มธรรมทูตของท่านขึ้นเอง ทำงานเทศน์สอนชาวบ้านชนบทของเมืองนี้ ท่านวางแผนการแพร่ธรรมและแบ่งงานกับลูกทีมของท่าน แต่ละหมู่บ้านที่เข้าไปแพร่ธรรม กลุ่มของท่านจะมีแผนปฏิบัติงานตามตารางเวลา ท่านเริ่มประสบผลสำเร็จกับงานแพร่ธรรมและอยู่ในเขตเมืองนังต์ 3 ปี


ท่านย้ายสนามงานไปที่เขตเมือง ลา โรแชล และเสริมงานการเทศน์สอนแพร่ธรรมด้วยการเริ่มเปิดโรงเรียนการกุศลขึ้น ท่านได้ตั้งคณะภคินีขึ้นเพื่อช่วยท่านทำงานในโรงเรียนหญิงและกลุ่มภราดาให้ช่วยดูแลโรงเรียนชาย


เนื่องจากท่านยังไม่มีผู้ติดตามที่เป็นพระสงฆ์ ท่านจึงเดินทางไปที่เมืองรูอัง ในปี ค.ศ. 1713 เพื่อชักชวนเพื่อนเก่าผู้เป็นพระสงฆ์ที่นี่ให้มาร่วมงานกับท่าน ท่านเองแม้จะมีอายุเพียงต้นๆวัยสี่สิบ แต่ก็รู้ตัวว่ากำลังวังชาเริ่มถอยลงไปทุกที เมื่อชักชวนไม่สำเร็จท่านจึงกลับไปทำงานที่เก่า ในระหว่างการเทศน์แพร่ธรรมที่หมู่บ้านแซงต์ ลอแรงต์ ท่านล้มป่วยลงและสิ้นใจในปี ค.ศ. 1716 เมื่ออายุได้เพียง 43 ปี การเดินทางทั้งหมดในชีวิตของท่านเป็นการเดินทางด้วยเท้าจริงๆ


ศพของท่านถูกฝัง ณ ที่นี้ พระสงฆ์ที่เทศน์แพร่ธรรมร่วมกับท่านต่างแยกย้ายกันไป ณ หมู่บ้านที่ฝังศพของท่านไว้นั้น มีเพียงภราดาองค์เดียวยังคงอยู่ช่วยสอนเด็กๆ และดูแลหลุมศพของท่าน กว่าคณะนักบวชที่ท่านได้ก่อตั้งมาจะสามารถรวมตัวกันที่แซงต์ ลอแรงต์ได้ก็เมื่อเวลาล่วงไป 6 ปี นับแต่ท่านเสียชีวิต ทั้งนี้ก็โดยความพยายามของซิสเตอร์ มารี หลุยส์


ผู้คนต่างเห็นว่าท่านเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์และพากันมาสวดภาวนาที่หลุมศพของท่าน จนเลื่องลือกันไปไกลถึงอัศจรรย์ต่างๆ นาๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อนพระสงฆ์ที่ท่านไปชักชวนมาร่วมงานเมื่อท่านก่อนจะสิ้นใจ จึงเดินทางมาดูและเมื่อได้ภาวนาขอพระเป็นเจ้าผ่านทางท่านก็หายจากโรคร้ายที่เป็นอยู่ กอปรได้เป็นบรรดาฝูงชนที่พากันมาสวดที่หลุมศพของท่านอย่างเลื่อมใส จึงเขียนประวัติของท่านไว้เป็นเล่มที่สองในราวปี ค.ศ.1724


ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศี เมื่อปี ค.ศ.1888 และได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญในพระ ศาสนจักรคาทอลิกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ.1947 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12

1 ความคิดเห็น:

  1. นักบุญหลุยส์ มารี เดอ มงฟอร์ต ขอวิงวอนให้ท่านช่วยโรงเรียนอัสสัมชัญ และโปรดให้คณะนักบวชเซ็นต์คาเบีรยลประเทศไทย หันมามาหาคนยากจน ละทิ้งความโลภ เดินตามรอยของท่านผู้ก่อตั้งด้วยเถิด

    ตอบลบ